
เชื่อว่ามีเด็ก ๆ และผู้ปกครองหลายคนคงได้ยินเกี่ยวกับการสอบของ สสวท. หรือจัดสอบโดย สสวท. กันอยู่ไม่มากก็น้อยใช่มั้ยครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กสายวิทย์-คณิตด้วยแล้วก็คงจะคุ้นชินมากเป็นพิเศษ แต่กระนั้นบางคนอาจยังมีข้อสงสัยกันอยู่เป็นแน่ว่าการสอบนี้คืออะไร แล้วหน้าที่ของหน่วยงานที่ว่าเป็นแบบไหน ทำไมจึงเป็นเป้าหมายของนักเรียนจำนวนมากที่อยากสอบ เราหาคำตอบมาให้แบบครบถ้วนกันเลย
ความหมายของ สสวท. และหน้าที่ที่รับผิดชอบ
สสวท. คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (IPST) เป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกระดับชั้นที่มีทักษะ พรสวรรค์ ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เก่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมถึงยังเป็นหน่วยงานหลักของการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตร หรือรูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งในสถานศึกษหรือนอกสถานศึกษา ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะความรู้ มีศักยภาพ เป็นนักวิชาชีพและนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคตต่อไป
เหตุผลที่เด็กหลายคนอยากสอบ สสวท.
ด้วยความที่หน้าที่หลักของ สสวท. คือ การพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนทุกคระดับชั้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ดังนั้น การสอบคัดเลือกจึงเป็นวิธีที่จะทำให้รู้ว่าเด็กคนไหนมีทักษะที่ดีมากพอเพื่อการต่อยอดสู่อนาคต รวมถึงเด็ก ๆ ยังสามารถดึงเอาความสามารถของตนเองออกมาแสดงให้เห็นอย่างดีที่สุด บ่อยครั้งการทดสอบต่าง ๆ ในรายวิชาดังกล่าวจึงถูกจัดขึ้นโดยหน่วยงานนี้
- เพื่อคัดเลือกพร้อมประเมินทักษะของเด็กในระดับชั้นประถมศึกษา โดย “โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จาก สสวท.”
- เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับโลก โดย “โครงการวิชาการโอลิมปิก สำหรับการคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษา”
- เพื่อสำหรับประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ 15 ปี โดย “โครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ โครงการ PISA” ซึ่งใช้การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นร่วมด้วย
ขณะที่เด็กจำนวนมากที่ชื่นชอบการเรียนสายวิทย์ - คณิต และเทคโนโลยี การได้สอบ สสวท. จึงเป็นอีกเป้าหมายที่สร้างความภาคภูมิใจและยังมีโอกาสต่อยอดเพื่อความสำเร็จตามเส้นทางที่ตนเองวาดฝันเอาไว้อีกด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดการสอบก็เท่ากับได้เช็กทักษะความรู้ ความสามารถของตนเองด้านต่าง ๆ ดูว่ายังมีจุดบกพร่องตรงไหนไหม มีเรื่องใดที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม